เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คืออะไร ? ทำไมคนมีประกันรถยนต์ถึงต้องรู้

251 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คืออะไร ? ทำไมคนมีประกันรถยนต์ถึงต้องรู้

ทำความเข้าใจการ เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจความหมายของ “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ให้ดีก่อน ซึ่งคำนี้คือ “เงินชดเชย” ที่บริษัทประกันภัยรถยนต์ของฝ่ายผิดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ต้องดำเนินการชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย (ฝ่ายถูก) เนื่องจากเสียผลประโยชน์ตอนไม่มีรถใช้ เพราะต้องนำรถซ่อม โดยฝ่ายถูกจะต้องเป็นฝ่ายเรียกร้องสิทธิ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง

4 คุณสมบัติ ของการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
ร้องเงินชดเชยเมื่อคุณต้องตกเป็นคนเสียประโยชน์เพราะไม่มีรถใช้ ใช่ว่า “ใคร” สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ตายตัว ซึ่งคนที่สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ได้ มีดังนี้


กรณีที่เป็นฝ่ายถูก
กรณีคู่กรณีเป็นยานพาหนะทางบก เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถบรรทุก
กรณีที่รถยนต์ของคุณทำประกันภัยไว้อย่างถูกต้อง
กรณีที่มีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง
ขั้นตอนการขอค่าขาดประโยชน์ ทำอย่างไร ?
สำหรับขั้นตอนการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ แบ่งออกเป็น 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณี (ฝ่ายผิด) จากนั้นให้ดำเนินการ “ยืนยันคำเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ในช่วงเวลาที่รถยนต์ของคุณอยู่ในระหว่างซ่อม
เมื่อบริษัทประกันของคู่กรณีแจ้งเอกสารที่ต้องการ ให้คุณนำเอกสารต่าง ๆ จัดส่งไปยังบริษัทของคู่กรณี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
รอบริษัทประกันคู่กรณีติดต่อกลับ ซึ่งระหว่างนี้จะเป็นการเช็กข้อมูลเพื่อพิจารณา ว่าต้องชดเชยให้คุณเท่าไหร่ พร้อมกับทำการประเมินและเจรจาต่อรอง
หลังจากเจรจาต่อรองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็รอรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ภายในระยะเวลา 7 วัน
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เอกสาร มีอะไรบ้าง ?
นอกจากการติดต่อบริษัทประกันของคู่กรณี เพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถแล้ว คุณ (ฝ่ายถูก) ยังต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ โดยเอกสารที่ต้องจัดเตรียมมีดังนี้

ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์
ใบเคลม หรือใบรับรองความเสียหายต่อทรัพย์สิน
สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
สำเนาทะเบียนรถยนต์
สำเนาใบขับขี่รถยนต์
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
ใบรับรถ หรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จ
รูปถ่ายตัวรถตอนที่เข้าซ่อม
รูปถ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้น
หนังสือเรียกร้องค่าสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกัน
เคลียร์ไม่จบ.. เรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกับ “คปภ.”
อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่ไม่สามารถเจรจากับบริษัทประกันของคู่กรณีได้ เนื่องจากไม่เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย นำไปสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้นถึงขั้นต้องแจ้งเรื่องกับหน่วยงานใหญ่คือ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) เพื่อให้ช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย

สิ่งที่ต้องรู้คือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ คปภ. ทำได้เพียงสั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น หาได้ระบุจำนวนเงินออกมาตรง ๆ หากตกลงกันไม่ลงจะต้องเดินเรื่องสู่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทผ่านอนุญาติตุลาการหรือฟ้องร้องคดีผู้บริโภคต่อไป

1. ผ่านเว็บไซต์
ช่องทางการติดต่อ คปภ. เพื่อดำเนินการสามารถติดต่อเข้าได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย (Insurance Complaint Center : ICC) ผ่านทางเว็บไซต์ LINK
2. ยื่นเรื่องด้วยตัวเอง
ยื่นเรื่องด้วยตัวเองที่หน่วยงาน คปภ.สำนักงานใหญ่ และสำนักงาน คปภ.ภูมิภาค โดยตรง ขั้นตอนเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้

กรอกรายละเอียดข้อร้องเรียนบทแพลตฟอร์มออนไลน์
กรอกแบบข้อร้องเรียน (ร.1) ณ หน้าหน่วยงาน
รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ
เจ้าหน้าที่นัดผู้เสียหายและบริษัทประกันเจรจาไกล่เกลี่ย
หากตกลงกันไม่ได้ เจ้าหน้าจะส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อไป
เรียกค่าขาดประโยชน์จากรถได้เท่าไหร่ ?
นับเป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนให้ความสนใจมาก ๆ ว่าเมื่อต้องมีการดำเนินการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ผู้เสียหาย (ฝ่ายถูก) จะได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการเรียกร้องในเรื่องนี้มี “อัตราขั้นต่ำ” ของการเรียกค่าชดใช้ตามประกาศ คปภ. วันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยเจรจาจ่ายในจำนวนที่ต่ำเกินไป ดังนี้

รถยนต์ที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราชดเชยไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
รถรับจ้างสาธารณะนั่งไม่เกิน 7 (รวมคนขับ) ชดเชยไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
รถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง (รวมคนขับ) ชดเชยให้ไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
สำหรับ “รถจักรยานยนต์” ที่ต้องการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หรือรถยนต์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1-3 ข้างต้น ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานเป็นกรณี นอกจากนี้การเรียกร้องค่าขาดผลประโยชน์ดังกล่าว จะสามารถทำได้เฉพาะรถยนต์ที่ทำประกันภัยรถยนต์ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2562 เท่านั้น
วิธีคำนวณค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
การคำนวณค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มักอ้างอิงตามเกณฑ์การเรียกร้องค่าชดเชยตาม “ประเภทรถ” ตามข้อกำหนดของ คปภ. กรณีที่คุณ(ฝ่ายถูก) จำเป็นต้องเช่ารถที่มีค่าเช่ารายวันสูงกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนด เช่น ได้รับค่าชดเชยวันละ 500 บาท แต่ค่าเช่ารถตกอยู่ที่วันละ 800 บาท ในกรณีนี้สามารถเบิกจ่ายได้ตามจริง แต่รถที่เช่าจะต้องเป็นรุ่นใกล้เคียงกัน และมีใบเสร็จชัดเจน

สำหรับการชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จากทางบริษัทประกันของคู่กรณี ส่วนใหญ่มักคำนวณให้ประมาณ 500-1,000 บาท และให้ความคุ้มครองค่าชดเชยภายในระยะเวลาซ่อม 20-30 วันเท่านั้น หากคำนวณง่าย ๆ ว่าได้เงินชดเชยวันละ 500 บาท จำนวน 30 วัน จะได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 15,000 บาท

เว้นแต่กรณีที่เสียหายหนัก และจำเป็นต้องมีการสั่งซื้ออะไหล่รถยนต์ รวมถึงต้องรออะไหล่จัดส่งมาถึงอู่ซ่อม เช่น จากการที่ชดเชยแค่ 30 วัน แต่ต้องรออะไหล่นานกว่า 90 วัน สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 90 วัน ที่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

วันขาดประโยชน์ เริ่มนับตั้งแต่ตอนไหน ?
ในส่วนของการ “นับจำนวนวันขาดประโยชน์” จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่รถเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จนไม่สามารถใช้งานต่อได้ หรือวันที่นำรถเข้าอู่ซ่อม แม้ว่าจะยังไม่ได้ดำเนินการซ่อม นอกจากนี้ยังนับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “บริษัทประกันมีหน้าที่ในการควบคุมจัดการ ให้อู่ซ่อมดำเนินการซ่อมรถผู้เสียหายให้แล้วเสร็จ แม้จะมีเหตุล่าช้าใด ๆ ก็ตาม”

“คู่กรณีไม่มีประกัน” เรียกร้องค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถได้ไหม ?
ในกรณีรถยนต์ของคู่กรณีไม่มีประกัน อย่าเพิ่งกังวลว่าจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้แต่อย่างใด ก่อนอื่นหากมั่นใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ให้ทำการแจ้งความลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานเอาไว้ก่อน จากนั้นดำเนินการนำหลักฐานการเช่ารถ และเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับประกอบการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้จะมี “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” เป็นตัวกลางในการเจรจา หากไม่สามารถตกลงกันได้อาจถึงขั้นต้องฟ้องศาลต่อไป

สอบถามเพื่มเติมได้ที่  
โทรเข้า Call Center คุณวุ้น : 085-389-785

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้